หินแกรนิตแตกต่างจากกระเบื้องแกรนิโตอย่างไร

หินแกรนิตแตกต่างจากกระเบื้องแกรนิโตอย่างไร

หากเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างหินแกรนิตและกระเบื้องแกรนิโตจะพบว่ามีข้อแตกต่างอยู่หลายข้อ ซึ่งต่างก็มีจุดเด่นไปคนละรูปแบบ การเลือกนำไปใช้จึงต้องพิจารณาหลายๆ ปัจจัยตามความเหมาะสมกับการใช้งาน

       การหาข้อมูลเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อของอย่างหนึ่งมิใช่เพียงเปรียบเทียบที่ราคา หรือภาพลักษณ์ภายนอกเท่านั้น การเลือกซื้อวัสดุตกแต่งบ้านก็เช่นกัน หากใครที่กำลังมองหาวัสดุปูพื้น-ผนัง หรือท็อปเคาน์เตอร์ โดยกำลังตัดสินใจเลือกซื้อระหว่าง

หินแกรนิตธรรมชาติที่ดูแข็งแกร่ง กับกระเบื้องแกรนิโต (Granito/ Homogeneous Tiles) ที่มีลวดลายหลากหลาย เรามีหลักในการเลือกซื้อวัสดุให้เหมาะกับการใช้งานตามจุดประสงค์ โดยเปรียบเทียบปัจจัยต่างๆ ตามคุณสมบัติของวัสดุทั้งสองประเภท ดังนี้

       ด้านลักษณะภายนอกและคุณสมบัติ สำหรับหินแกรนิตเป็นหินธรรมชาติ แต่ละแผ่นจะมีสีสันและลวดลายเฉพาะตัว ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบทางเคมี และองค์ประกอบทางแร่ธาติที่ต่างกัน โดยมากจะเป็นสีขาว ชมพู ส้ม เทา น้ำตาล ไปจนถึงสีดำ มีทั้งหินในประเทศ และนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งมักมีราคาสูงกว่า การเลือกนำไปใช้นั้นจึงขึ้นอยู่กับความชอบและงบประมาณของเจ้าของบ้าน ขนาดของหินแกรนิตมีทั้งแบบแผ่นสำเร็จรูป ได้แก่ 30 x 60 ซม., 40 x 80 ซม., 80 x 80 ซม., 60 x 60 ซม., 60 X 120 ซม., 60 X 150 ซม., 60 X 200 ซม. โดยมีความหนาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.7-1.8 ซม. หรือสามารถสั่งตัดตามแบบได้ทั้งขนาดและความหนา อย่างไรก็ตาม ขนาดที่สั่งตัดขึ้นอยู่กับหินแต่ละประเภทว่าสามารถตัดขนาดได้เท่าไรบ้าง ซึ่งมีข้อดีคือการติดตั้งจะไร้รอยต่อ เนียบเรียบเสมอกันทั้งแผ่น ในส่วนของเนื้อผิวสัมผัสของหินแกรนิตสำเร็จรูปจะมาในรูปแบบผิวมัน แต่หากต้องการแบบผิวหยาบด้วยวิธีการการพ่นทราย หรือพ่นไฟ หรือเซาะร่องตามระยะและความลึกที่ต้องการ ก็สามารถสั่งได้ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม 

ภาพ ตัวอย่างลักษณะลวดลายหินแกรนิตธรรมชาติ
ภาพ: การเจียรมนลบเหลี่ยมคมขอบเคาน์เตอร์หินแกรนิต เพื่อความสวยงามและป้องกันอันตราย

       ส่วนกระเบื้องแกรนิโต หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Homogeneous Tiles”  คือกระเบื้องเซรามิกเนื้อพอร์ซเลน  ผ่านขั้นตอนการเผาที่อุณหภูมิสูง จึงมีความแข็งแกร่ง ทนทาน มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำ มีลวดลายหลากหลายตามแต่ละผู้ผลิต พื้นผิวมีทั้งผิวด้าน กึ่งเงา และมันเงา ลักษณะของเนื้อกระเบื้องจะเป็นเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น ซึ่งหากเกิดการกะเทาะหรือเกิดรอยขีดข่วนจะสังเกตเห็นได้ยาก มีขนาดหลากหลายให้เลือกใช้ เช่น 12 x 12 นิ้ว , 12 x 24 นิ้ว , 24 x 24 นิ้ว ฯลฯ ซึ่งมักจะเป็นขนาดที่ใหญ่กว่ากระเบื้องปูพื้นหรือผนังทั่วไป และความหนาส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 1 ซม.

ภาพ: ลักษณะเนื้อกระเบื้องแกรนิโต

       การนำไปใช้งาน ด้วยเหตุผลที่หินแกรนิตสามารถสั่งรูปแบบและตัดตามขนาดได้ จึงนิยมนำไปใช้ในงานท็อปเคาน์เตอร์ครัว ท็อปเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้า และท็อปเคาน์เตอร์อ่างอาบน้ำแบบฝัง ส่วนขนาดที่ตัดตามมาตรฐานจะนิยมใช้เป็นวัสดุปูพื้นและผนัง ในส่วนของกระเบื้องแกรนิโตซึ่งมีขนาดตามมาตรฐาน นิยมใช้ปูพื้นและผนังเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะงานภายนอกอาคาร เพราะมีน้ำหนักเบากว่าหิน และติดตั้งง่ายเช่นเดียวกับกระเบื้องเซรามิกทั่วไป อย่างไรก็ตาม กระเบื้องแกรนิโตก็สามารถนำไปปูท็อปเคาน์เตอร์ครัวได้ เพียงแต่จะมีรอยต่อระหว่างแผ่นซึ่งต้องอาศัยความชำนาญของช่างในการปูกระเบื้องให้ได้ระดับเท่ากันทุกแผ่น เว้นร่องให้สม่ำเสมอ และยาแนวให้เนียนสนิท

ภาพ: ท็อปเคาน์เตอร์อ่างล้างหน้าหินแกรนิต

       การติดตั้งหินแกรนิตต้องทำโครงสร้างรองรับที่แข็งแรงกว่าปกติเพราะมีน้ำหนักมาก และหากนำไปใช้เป็นวัสดุปูพื้นชั้นล่างควรมีแผ่นพลาสติกรองใต้พื้นคอนกรีตเพื่อป้องกันความชื้นจากดินขึ้นมาสู่หิน ซึ่งอาจทำให้เกิดรอยด่างได้ การติดตั้งต้องปรับระดับพื้นด้วยปูนทรายหนาประมาณ 3-5 ซม. จัดเรียงตำแหน่งของหินแกรนิตให้ได้ลวดลายตามต้องการ โดยก่อนติดตั้งควรทำความสะอาด และทาน้ำยากันซึมหรือน้ำยากันตะไคร่ให้รอบแผ่นทั้ง 6 ด้าน แล้วผึ่งให้แห้งก่อนนำมาติดตั้ง การติดตั้งหินแกรนิตจะใช้กาวซีเมนต์ปาดที่หลังแผ่นและผิวพื้น จัดวางและปรับระดับด้วยค้อนยาง เว้นร่องระหว่างแผ่น 1-2 มม. แล้วยาแนวให้เต็มร่อง หากมีคราบปูนหรือยาแนวเกาะที่เนื้อหินให้เช็ดออกทันที 

       ส่วนการติดตั้งกระเบื้องแกรนิโตก็เป็นเช่นเดียวกับการปูกระเบื้องเซรามิกทั่วไป โดยหากเป็นกระเบื้องขนาดใหญ่ตั้งแต่ 80×80 ซม. ขึ้นไป จำเป็นต้องใช้เครื่องมือจับกระเบื้องช่วยในการติดตั้ง นอกจากนี้ ต้องทำการเว้นร่องยาแนว 2 มิลลิเมตรสำหรับกระเบื้องตัดขอบ และ 3 มิลลิเมตรสำหรับกระเบื้องไม่ตัดขอบ เพราะหากปูชิดเกินไปหรือไม่เว้นร่อง อาจเกิดปัญหากระเบื้องขยายตัวและดันกันจนโก่งตัวได้

ภาพ: กระเบื้องปูพื้นแกรนิโต

       การดูแลรักษาก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ โดยสำหรับหินแกรนิตควรระวังเรื่องความชื้นและความร้อนโดนผิวหน้า เพราะอาจเกิดรอยด่างได้ง่าย และหมั่นเคลือบด้วยน้ำยากันตะไคร่ที่เหมาะสมตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาที่มีค่าเป็นกรดทำความสะอาดผิวหน้า ส่วนกระเบื้องแกรนิโตจะมีวิธีการดูแลรักษาที่ง่ายกว่า คือหมั่นทำความสะอาดทั้งที่ผิวกระเบื้องและบริเวณร่องยาแนวเป็นประจำ และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาทำความสะอาดประเภทกรด-ด่างรุนแรงเพื่อไม่ให้ยาแนวเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร 

ภาพ: กระเบื้องแกรนิโตเนื้อเดียวกันทั้งแผ่น ติดตั้งและดูแลรักษาง่ายเหมือนกระเบื้องเซรามิกทั่วไป

       ในด้านราคาหินแกรนิตจะมีราคาเฉลี่ยที่สูงกว่ากระเบื้องแกรนิโต ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา พื้นผิว ขนาด สีสันและลวดลาย ดังนั้น การเลือกไปใช้งานในแต่ละส่วนไม่ว่าจะปูพื้น ปูผนัง หรือใช้ทำท็อปเคาน์เตอร์จึงขึ้นอยู่กับความชอบ และงบประมาณของเจ้าของบ้าน

       อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากวัสดุสองประเภทนี้ ยังมีกระเบื้องพอร์ชเลน (เกลซพอร์ซเลนและเอ็กซพอร์ชเลน) ซึ่งผ่านการเผาที่อุณหภูมิสูงเช่นเดียวกับกระเบื้องแกรนิโต แต่ต่างกันที่มีการเคลือบสี พิมพ์ลวดลาย และทำผิวสัมผัสบนผิวหน้า จึงมีความหลากหลายมากกว่า และยังมีขนาดที่ผลิตได้ใหญ่สูงสุดถึง1.60 ม. x 3.20 ม. ซึ่งสามารถเลือกใช้เป็นวัสดุพื้น ผนัง รวมถึงท็อปเคาน์เตอร์ครัวได้อย่างสวยงามและแข็งแกร่งไม่แพ้หินแกรนิต ทั้งนี้ ควรระวังไม่ให้ผิวหน้ากะเทาะในขณะติดตั้งและใช้งาน เพราะอาจเห็นเนื้อกระเบื้องที่แตกต่างจากผิวหน้าได้ง่าย

ภาพ: กระเบื้องเกลซพอร์ซเลนหลากหลายลวดลาย
ภาพ: กระเบื้องเกลซพอร์ซเลนลายหินและลายไม้
ภาพ กระเบื้องเอ็กซพอร์ชเลนทนทานแข็งแกร่งกว่ากระเบื้องทั่วไป
ภาพ: กระเบื้อง Grande รุ่น Cement Ebony แผ่นใหญ่ไร้รอยต่อ สำหรับทำท็อปเคาน์เตอร์ครัว  
ขอบคุณภาพจาก COTTO 

ที่มา : scgbuildingmaterials

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *